5 พฤษภาคม 2554

ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิ กับบุคคลสิทธิ

() ทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินโดยตรง เช่น ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใด ย่อมชอบที่จะใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลติดตามเอาทรัพย์สินคืน และขัดขวางมิให้ผู้ใดสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดบมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเอาจากตัวทรัพย์ที่จำนองได้เสมอ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะตกไปอยู่ที่ใด
          บุคคลสิทธิ มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๔ แลมาตรา ๒๑๓ เช่นสิทธิตามสัญญาจ้างทำของย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้จ้างที่จะบังคับให้ผู้รับจ้างทำของนั้นให้แก่ตน
              () ทรัพยสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดนอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย ภารจำยอม และสิทธิอื่นๆ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ สิทธิยึดหน่วงบุริมสิทธิ จำนองและจำนำ เกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจไว้ ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.. ๒๕๓๗ สิทธิในเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.. ๒๕๓๔ สิทธิบัตรเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.. ๒๕๒๒ แต่สิทธิในชื่อเสียงแห่งธุรกิจ (business goodwill) ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายไทยรับรองจึงมิใช้ทรัพยสิทธิ
                  บุคคลสิทธิ ย่อมเกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่นทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์ ทำสัญญาเช่า ให้กู้ยืมเงิน หรือเกิดโดยนิติเหตุ เช่นเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้ถูกละเมิดย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้
                 () ทรัพยสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไป คือบุคคลอื่นใดก็ตามมีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ขัดขวางต่อการใช้ทรัพยสิทธิของเจ้าของทรัพยสิทธิ เช่น ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน จำนองตกติดไปกับทรัพย์เสมอ ไม่ว่าผู้ใดจะได้ทรัพย์ใต้ทรัพยสิทธิเหล่านี้ไปก็ต้องยอมรับรู้ทรัพยสิทธิเหล่านี้ จะขัดขวางหรือไม่ยอมให้ผู้ทรงทรัพยสิทธิใช้สอยหรือบังคับสิทธินั้นหาได้ไม่
                        บุคคลสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น กล่าวคือคู่สัญญาเท่านั้นที่มีหน้าที่กระทำหรืองดเว้นการกระทำการตามสัญญา หรือในเรื่องละเมิดตามหลักทั่วไปก็ก่อให้เกิดหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่เฉพาะแก่ผู้ทำละเมิดเท่านั้น
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๖/๒๕๑๐ สัญญาที่เจ้าของที่ดินยอมให้อาคารของเจ้าของที่ดินข้างเคียรุกล้ำเข้ามาในที่ดินจนกว่าอาคารนั้นจะถูกรื้อไป แม้ไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่ก่อให้เกิดทรัพยสิทธิ แต่ก็ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิซึ่งบังคับได้ระหว่างคู่สัญญา
                  () ทรัพยสิทธิ มีลักษณะคงทนถาวรและไม่หมดสิ้นไปโดยการไม่ใช้ เช่น กรรมสิทธิ์ แม้จะไม่ใช่นานเท่าใด ก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ หาสูญสิ้นไปไม่ หรือจำนองย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่จำนองเสมอ ส่วนการที่มีผู้อื่นมาแย่งการครอบครองและได้กรรมสิทธิ์ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ นั้นเป็นเรื่องได้กรรมสิทธิ์ไป เพราะผลแห่งการแย่งการครอบครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพยสิทธิอยู่ ๒ ประเภทเท่านั้น คือภารจำยอมและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรา ๑๓๙๙ และ ๑๔๓๔ บัญญัติว่า ถ้าไม่ใช้สิบปีย่อมสิ้นไป
                        บุคคลสิทธิมีลักษณะไม่ถาวร และย่อมสิ้นไปถ้ามิได้ใช้สิทธินี้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กำหนดเวลานี้เรียกว่า อายุความซึ่งมาตรา ๑๙๓/๙ ได้บัญญัติไว้ว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ และอายุความนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๓๐ ถึงมาตรา ๑๙๓/๓๕
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕/๒๕๔๐ สิทธิของผู้เช้าซื้อซึ่งใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วที่จะบังคับผู้ให้เช่าซื้อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าซื้อแก่ตนอันเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐