7 มิถุนายน 2554

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การขออนุญาตทำทางเชื่อมเข้า – ออก ในเขตทางหลวงชนบท (ตามประกาศกรมทางหลวง ลว.20 ก.ค.2553)

1. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต
ต้องเป็นเจ้าของในที่ดินที่ประสงค์จะสร้างทางเข้า - ออกในเขตทางหลวงชนบท หากเป็นนิติบุคคลให้ผู้ที่มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคลเป็นผู้ยื่นคำขอ
2. หลักฐานประกอบการขออนุญาต
2.1 แบบฟอร์มคำขออนุญาตกระทำการใด ๆ ในเขตทางหลวงชนบท (ตามแบบ ข.1)
2.2 แบบแปลนและแผนผังที่ตั้งที่ดินที่แสดงตำแหน่งอาคารกับทางเชื่อมเข้า - ออกในเขตทางหลวงชนบทตามแบบมาตรฐานทางเข้า - ออกที่กรมทางหลวงชนบทกำหนดไว้ จำนวน 4 ชุด
2.3 กรณีทางเชื่อมที่ขออนุญาตมีรัศมีเลี้ยวปากทางเข้า ออก ล้ำเข้าไปในที่ดินผู้อื่นจะต้องให้เจ้าของที่ดินนั้นแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
2.4 สำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคารพร้อมแบบแปลนแผนผังประกอบการอนุญาต จำนวน 1 ชุด
2.5 สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาต จำนวน 3 ฉบับ
2.6 สำเนาโฉนดที่ดิน จำนวน 3 ฉบับ (กรณีที่ที่ดินติดจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้รับจำนอง)
2.7 หนังสือมอบอำนาจในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการขออนุญาตแทน ติดอากรแสตมป์ 10 บาท
2.8 กรณีเป็นนิติบุคคลจะต้องมีหนังสือที่ลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจพร้อมตราประทับของนิติบุคคลนั้น ๆ และต้องมีหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคล
3. การตรวจสอบสถานที่
เจ้าหน้าที่จะนัดหมายกับผู้ขออนุญาตเพื่อทำการตรวจสอบสถานที่ที่ขออนุญาตทำทางเชื่อมเข้า-ออกในเขตทางหลวงชนบทก่อนที่จะอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำ ทางเชื่อมเข้า-ออกแล้ว ผู้ขออนุญาตจึงจะสามารถทำทางเชื่อมเข้า ออกในเขตทางหลวงชนบทได้โดยต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
4. สถานที่ยื่นคำขออนุญาต
ผู้ขออนุญาตสามารถขอรับแบบคำ ขออนุญาตฯ ขอตรวจดูแบบมาตรฐานทางเข้าออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขได้ที่สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักบำรุงทางกรมทางหลวงชนบท หรือที่ web site / www.ddr.go.th และยื่นแบบคำขออนุญาตได้ที่สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท เลขที่ 9 ถนนพหลโยธินแขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220 โทร.0-2551-5000


เงื่อนไขการอนุญาตทำทางเชื่อมเข้า ออก ในเขตทางหลวงชนบท

1. ก่อนที่ผู้ได้รับอนุญาตจะลงมือกระทำการก่อสร้าง ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบททราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
2. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน.......วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตยังไม่ทำการให้แล้วเสร็จ เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตละทิ้งงานหรือหลีกเลี่ยงไม่ทำตามแบบที่กำหนด หรือมีเหตุผลที่ไม่ควรให้ต่อเวลาทำการอีกต่อไป ผู้ได้รับอนุญาตยินยอมให้กรมทางหลวงชนบทเพิกถอนการอนุญาต โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น
3. ผู้ได้รับอนุญาตจะทำการก่อสร้างตามแบบและรายละเอียดประกอบแบบไม่ว่าจะเป็นแบบขออนุญาตสร้างทาง ถนนหรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงเพื่อเป็นทางเข้า-ออก หรือแบบมาตรฐานทางเชื่อมชั่วคราวเข้า-ออกทางหลวงชนบทที่ได้กำหนดไว้
4. ผู้ได้รับอนุญาตยินยอมให้กรมทางหลวงชนบท มีสิทธิที่จะออกแบบ เปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมแบบให้เหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของทาง หรือเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางหรือเพื่อบำรุงรักษาประการใดก็ได้ และหากมีการแก้ไขเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับอนุญาตที่จะต้องปฏิบัติตามโดยออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น
5. ผู้ได้รับอนุญาตจะหาวัสดุมาดำเนินการก่อสร้างตามแบบ และรายละเอียดที่กรมทางหลวงชนบทอนุญาต จะไม่ใช้วัสดุในเขตทางของกรมทางหลวงชนบท
6. ผู้ได้รับอนุญาตต้องติดตั้งป้ายจราจรตลอดจนเครื่องหมายควบคุมการจราจรอื่น ๆ ในระหว่างการก่อสร้างตามมาตรฐานทางหลวง และแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติหากจำเป็นต้องทำการก่อสร้างในเวลากลางคืน หรือส่วนของงานก่อสร้างหรือวัสดุอุปกรณ์ของงานก่อสร้างอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องจัดให้มีไฟฟ้าแสงสว่างอย่างเพียงพอและป้ายจราจรที่ติดตั้งต้องเป็นชนิดสะท้อนแสง (Reflective) ด้วย
7. ผู้ได้รับอนุญาต จะต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทเข้าตรวจสอบการทำงานได้ตลอดเวลาเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทางหลวง
8. เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบท มีอำนาจสั่งให้หยุดการทำการก่อสร้างในกรณีที่การก่อสร้างนั้นจะทำความเสียหายให้แก่ทางหลวงหรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทาง
9. ผู้ได้รับบอนุญาตจะต้องรับผิดชอบ และชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการก่อสร้างทางเชื่อมที่มีต่อทางหลวงหรือผู้ใช้ทาง (เอกสาร ง.1)
10. ในระหว่างการใช้สถานที่ที่ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องควบคุมการใช้สถานที่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการรักษาความสะอาดสถานที่และเมื่อครบกำหนดการได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการทำความสะอาด เก็บเศษวัสดุอุปกรณ์ อันเกิดจากกิจกรรมที่ใช้สถานที่ให้เรียบร้อย และแจ้งให้กรมทางหลวงชนบทตรวจสอบจนเป็นที่พอใจ
11. ในกรณีที่การขออนุญาตต้องทำการขุดรื้อผิวจราจร ทางเท้า หรือส่วนอื่นใดในโครงสร้างถนนผู้ได้รับอนุญาตต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม ตามมาตรฐานและวิธีการที่กรมทางหลวงชนบทกำหนดและต้องรับผิดชอบความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้น ภายในเวลา 2 ปี
12. เมื่อกรมทางหลวงชนบทต้องสร้างหรือขยายทางหลวง หรือซ่อมแซมบำรุงทางหลวง ถ้าต้องรื้อถอนเคลื่อนย้ายสิ่งที่ได้รับอนุญาตเป็นภาระของผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการภายในกำหนดที่ได้รับแจ้งและหากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆจากกรมทางหลวงชนบท
13. เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากกรมทางหลวงชนบท หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้รื้อย้ายทางเชื่อมเข้า-ออก ที่ได้รับอนุญาตให้พ้นเขตการก่อสร้างทางภายในระยะเวลาที่กรมทางหลวงชนบทกำหนด ผู้ได้รับอนุญาตจะทำการรื้อย้ายทันที และให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งโดยผู้ขออนุญาตจะเป็นผู้จัดหาสถานที่จัดเก็บและเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ถ้าหากผู้ได้รับอนุญาตรื้อย้ายไม่ทันกำหนดเวลาและเกิดความเสียหายขึ้นกับกรมทางหลวงชนบท ไม่ว่ากรณีใด ๆก็ตามผู้ได้รับอนุญาตยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมทางหลวงชนบททั้งสิ้น
14. ในกรณีที่การก่อสร้างตามคำขอนี้จำเป็นจะต้องตัดกิ่งไม้ในเขตทาง ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงชนบทก่อน และกรมทางหลวงชนบทมีสิทธิที่จะกำหนดเงื่อนไขประการใดก็ได้
15. ผู้ได้รับอนุญาตจะซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม ให้ได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานงานก่อสร้างเดิมของสิ่งก่อสร้างนั้น
16. หากเกิดความเสียหายแก่ถนนหรือทรัพย์สินของกรมทางหลวงชนบทขึ้นในภายหลังจากผู้ได้รับอนุญาตได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยความเสียหายนั้นเกิดจากการทำทางเชื่อมเข้า-ออกที่ได้รับอนุญาตผู้ได้รับอนุญาตจะซ่อมแซมจัดหาใหม่ให้ดีเช่นเดิมตามที่กรมทางหลวงชนบทกำหนดภายในระยะเวลา 15 วัน หลังจากได้รับแจ้งหรือตามระยะเวลาที่กรมทางหลวงชนบทกำหนดในกรณีเร่งด่วน
17. ผู้ได้รับอนุญาตกระทำผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด ผู้ได้รับอนุญาตยินยอมให้กรมทางหลวงชนบทเพิกถอนการอนุญาตได้