หน้า ๑๕๖ เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง
เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเหมาะสมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้ให้เรียกว่า “ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง พ.ศ. ๒๕๔๙”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ให้ปลัดกรุงเทพมหานครรักษาการตามระเบียบนี้และให้มีอำนาจในการออกคำสั่งประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑ ข้อความทั่วไป
ข้อ ๕ ในระเบียบนี้
“สะพาน” หมายความว่า สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นสำหรับข้ามคลอง เช่น สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กสะพานท่อ สะพานเหล็ก สะพานไม้ สะพานชั่วคราว
“คลอง” หมายความว่า คลอง ลำราง คูน้ำที่เป็นสาธารณะหรือที่เป็นของหน่วยงานอื่นที่อยู่ในการควบคุม ดูแล รักษาของกรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานอื่น
หมวด ๒ การขออนุญาต
ข้อ ๖ การขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองที่อยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้
ข้อ ๗ การขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองที่อยู่ในการควบคุม ดูแล รักษาของหน่วยงานอื่นผู้ขออนุญาตก่อสร้างสะพานจะต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุม ดูแล รักษาคลองนั้นก่อน
ข้อ ๘ การขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง เพื่อเชื่อมต่อกับถนนที่อยู่ในการควบคุมดูแล รักษาของหน่วยงานอื่น ผู้ขออนุญาตก่อสร้างสะพานจะต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุม ดูแล รักษาถนนนั้นก่อน
ข้อ ๙ ผู้ขออนุญาตก่อสร้างสะพานต้องยื่นแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณ พร้อมเอกสารหลักฐานวิธีการขออนุญาตตามกฎหมายคุมอาคารโดยให้มีหนังสือแจ้งวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินประกอบการขออนุญาตด้วย
ข้อ ๑๐ การยื่นขออนุญาตก่อสร้างสะพานท่อ สะพานไม้ สะพานชั่วคราวข้ามคลอง ให้ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่ ส่วนสะพานอื่นนอกเหนือจากนั้น ให้ยื่นที่กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา
หมวด ๓ การอนุญาต เงื่อนไขการอนุญาตและการก่อสร้างสะพาน
ข้อ ๑๑ กรุงเทพมหานครอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานเข้าสู่ที่ดินของผู้ขออนุญาตเฉพาะกรณีที่มีเหตุผลตามความจำเป็นและมีความเหมาะสมกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การก่อสร้างสะพานเข้าสู่บริเวณบ้านเป็นหลัง ๆ หรือเข้าสู่ที่ดิน หรือถนนเพื่อประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน ที่ดินของผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีทางเข้าออกอื่นและผู้ขออนุญาตต้องแสดงรายละเอียดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ครบถ้วนชัดเจน
(๒) การก่อสร้างสะพานเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการจราจร
(๓) การก่อสร้างสะพานเพื่อเข้าสู่ที่ดินที่ใช้เป็นถนนในโครงการจัดสรรที่ดิน
(๔) การก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างที่ดิน ๒ ฝั่ง ในกรณีที่ดินมีอาคารที่เข้าข่ายต้องมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด
(๕) การก่อสร้างสะพานที่กรุงเทพมหานครเห็นว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามที่กรุงเทพมหานครเห็นสมควร
ข้อ ๑๒ การอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคารกฎหมาย ว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๑๓ สะพานที่ขออนุญาตต้องไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีประกาศกรุงเทพมหานคร ห้ามปลูกสร้างสิ่งอื่นใดในลำน้ำบริเวณนั้น
ข้อ ๑๔ ผู้ขออนุญาตต้องยินยอมยกสะพานที่ก่อสร้างให้เป็นสาธารณประโยชน์ และมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคง แข็งแรงและสามารถใช้งานได้โดยสะดวกด้วย
ข้อ ๑๕ ผู้ขออนุญาตต้องมอบเงินให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนร้อยละ ๕๐ ของเงินค่าก่อสร้างสะพานที่คำนวณจากราคามาตรฐานของกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสภาพคลองบริเวณที่ขออนุญาต
การมอบเงินให้แก่กรุงเทพมหานครตามวรรคแรก ไม่รวมถึงการขออนุญาตก่อสร้างสะพานไม้สะพานชั่วคราวและสะพานตามข้อ ๒๔
ข้อ ๑๖ กรณีก่อสร้างสะพาน หากเป็นการรอนสิทธิ์ที่ดินข้างเคียงหรือเป็นปัญหาทางกฎหมายผู้ขออนุญาตจะต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น
ข้อ ๑๗ ในกรณีผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตตัดคันหิน ลดระดับคันหินทางเท้าและทำทางเชื่อมในที่สาธารณะเพื่อเป็นทางเข้า-ออกรถยนต์ ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร
ว่าด้วยการขออนุญาตตัดคันหินทางเท้า ลดระดับคันหินทางเท้าและทำทางเชื่อมในที่สาธารณะ จะต้องได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการก่อสร้างสะพาน
ข้อ ๑๘ การดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานท่อและสะพานเหล็กผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาด้านงานทางไว้กับกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๑๙ การก่อสร้างสะพานที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายต้นไม้ สนามหญ้า ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่อยู่ในทางสาธารณะ ผู้ขออนุญาตจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของก่อนดำเนินการก่อสร้างสะพาน
ข้อ ๒๐ ระหว่างการก่อสร้างสะพาน ผู้ขออนุญาตจะต้องจัดระบบระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน และปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณที่ก่อสร้าง
ข้อ ๒๑ ถ้าตำแหน่งของสะพานที่ขออนุญาต มีเขื่อนเดิมของทางราชการ การตอกเสาเข็มสะพานจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างเขื่อนเดิม หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ขออนุญาตจะต้องซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิม
ข้อ ๒๒ เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเก็บเศษวัสดุ อุปกรณ์ และรื้อถอนโครงสร้างชั่วคราวที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่ในคลองออกให้หมดและขุดลอกคลองให้มีค่าระดับท้องคลอง ตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด
ข้อ ๒๓ กรุงเทพมหานครมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการอนุญาตตามระเบียบนี้ได้ ถ้าผู้ขออนุญาตกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาต หรือกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการจราจร หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรทางน้ำ ทางบกและผู้อยู่อาศัยที่อยู่ในบริเวณข้างเคียงด้วย
หมวด ๔ ลักษณะ รูปแบบของสะพาน
ข้อ ๒๔ สะพานที่เข้าสู่บริเวณบ้านพักอาศัยเป็นหลัง ๆ ให้สร้างได้กว้างไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร
ข้อ ๒๕ สะพานที่เข้าสู่ที่ดินหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน ให้สร้างได้กว้างไม่เกินความกว้างของถนนที่เชื่อมต่อกับสะพานและมีความกว้างไม่เกิน ๑๒.๐๐ เมตร
ข้อ ๒๖ สะพานที่เข้าสู่ที่ดินที่ใช้เป็นถนนในโครงการจัดสรรที่ดิน ให้สร้างได้กว้างไม่เกินความกว้างของถนนในโครงการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายจัดสรรที่ดิน หากสะพานมีความกว้างเกิน
๑๒.๐๐ เมตร ต้องจัดให้มีช่องว่างกลางสะพานตลอดความยาวของสะพานกว้างไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตรพร้อมราวสะพานที่มั่นคง แข็งแรงกั้นช่องว่างกลางสะพานดังกล่าวด้วย
ข้อ ๒๗ แนวศูนย์กลางสะพานต้องไม่เชื่อมกับถนนบริเวณทางร่วมหรือทางแยกสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ ๖.๐๐ เมตรขึ้นไป และต้องห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือทางแยกสาธารณะเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า ๒๐.๐๐ เมตร
ข้อ ๒๘ แนวศูนย์กลางสะพานต้องไม่เชื่อมกับถนนบริเวณเชิงลาดสะพาน และต้องอยู่ห่างจากจุดสุดเชิงลาดสะพานเป็นระยะไม่น้อยกว่า ๕๐.๐๐ เมตร เว้นแต่สะพานที่เชื่อมกับถนนที่มีทางขนานข้างสะพาน
ข้อ ๒๙ สะพานที่เข้าสู่ที่ดินหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน หรือเข้าสู่โครงการจัดสรรที่ดิน จะต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรงและต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ตามมาตรฐานAASHTO HS 20-40 ส่วนสะพานที่เข้าสู่บริเวณบ้านเป็นหลัง ๆ จะต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรงและต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ตามมาตรฐาน AASHTO HS 15-44 โดยผู้ขออนุญาตต้องติดตั้งป้ายควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานการออกแบบสะพาน ให้ผู้ใช้สะพานสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ข้อ ๓๐ สะพานที่เข้าสู่บริเวณบ้านเป็นหลัง ๆ กำหนดให้มีส่วนลาดชันไม่เกิน ๑๐ ใน ๑๐๐และสะพานที่เข้าสู่ที่ดินหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน กำหนดให้มีส่วนลาดชันไม่เกิน ๘ ใน ๑๐๐
ข้อ ๓๑ ตำแหน่ง เสาสะพานหรือกำแพงกันดิน ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ขวางทางน้ำไหลและไม่กีดขวางทางสัญจรทางน้ำ โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนด ดังนี้
(๑) แนวเขตคลองที่มีความกว้างไม่เกิน ๕.๐๐ เมตร ให้ก่อสร้างเป็นสะพานท่อได้ โดยให้ผนังของสะพานท่อทั้งสองด้านอยู่นอกแนวเขตคลอง
(๒) แนวเขตคลองที่มีความกว้างน้อยกว่า ๑๐.๐๐ เมตร กำหนดให้เสาสะพานทั้งสองด้านอยู่นอกแนวเขตคลอง
(๓) แนวเขตคลองที่มีความกว้างตั้งแต่ ๑๐.๐๐-๑๕.๐๐ เมตร กำหนดให้สะพานมีช่องว่างระหว่างศูนย์กลางเสาสะพานช่วงกลาง กว้างไม่น้อยกว่า ๖.๐๐ เมตร โดยตำแหน่งของศูนย์กลางเสาสะพานที่อยู่ช่วงกลางคลอง ต้องอยู่ห่างจากแนวศูนย์กลางคลองไม่น้อยกว่า ๓.๐๐ เมตร และเสาสะพานตัวริมทั้งสองด้านอยู่นอกแนวเขตคลอง
(๔) แนวเขตคลองที่มีความกว้างมากกว่า ๑๕.๐๐ เมตร กำหนดให้สะพานมีช่องว่างระหว่างศูนย์กลางเสาสะพานช่วงกลาง กว้างไม่น้อยกว่า ๘.๐๐ เมตร โดยตำแหน่งของศูนย์กลางเสาสะพานที่อยู่ช่วงกลางคลอง ต้องอยู่ห่างจากแนวศูนย์กลางคลองไม่น้อยกว่า ๔.๐๐ เมตร และเสาสะพานตัวริมทั้งสองด้านอยู่นอกแนวเขตคลอง
(๕) แนวเขตคลองที่มีความกว้างตั้งแต่ ๒๐.๐๐-๒๕.๐๐ เมตร กำหนดให้สะพานมีช่องว่างระหว่างศูนย์กลางเสาสะพานช่วงกลาง กว้างไม่น้อยกว่า ๑๐.๐๐ เมตร โดยตำแหน่งของศูนย์กลางเสาสะพานที่อยู่ช่วงกลางคลอง ต้องอยู่ห่างจากแนวศูนย์กลางคลองไม่น้อยกว่า ๕.๐๐ เมตร และเสาสะพานตัวริมทั้งสองด้านอยู่นอกเขตคลอง
(๖) แนวเขตคลองที่มีความกว้างมากกว่า ๒๕.๐๐ เมตร กำหนดให้สะพานมีช่องว่างระหว่างศูนย์กลางเสาสะพานช่วงกลาง กว้างไม่น้อยกว่า ๑๒.๐๐ เมตร โดยตำแหน่งของศูนย์กลางเสาสะพานที่อยู่ช่วงกลางคลอง ต้องอยู่ห่างจากแนวศูนย์กลางคลองไม่น้อยกว่า ๖.๐๐ เมตร และเสาสะพานตัวริมทั้งสองด้านอยู่นอกแนวเขตคลอง
(๗) ตำแหน่งของเสาสะพานที่อยู่ในเขตคลอง ต้องมีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาสะพานกับแนวกำแพงกันดิน ไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร
ข้อ ๓๒ เชิงลาดและปลายเชิงลาดสะพานต้องไม่ล้ำเข้าไปในผิวถนนสาธารณะ และจะต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออกของอาคาร หรือที่ดินของบุคคลอื่น เว้นแต่จะได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของอาคารหรือเจ้าของที่ดิน ส่วนสะพานข้ามคลองที่มีถนนสาธารณะขนานตลอดแนวคลองกรุงเทพมหานครจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
ข้อ ๓๓ รูปแบบของสะพานที่ขออนุญาตต้องคำนึงถึงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรม การปรับเชิงลาดสะพาน ทางเท้า ทางระบายน้ำและอื่น ๆ เพื่อให้ใช้งานได้ดีและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ข้อ ๓๔ กำหนดให้ก่อสร้างกำแพงกันดินตลอดความกว้างสะพานตามแนวเขตคลองให้มีความมั่นคง แข็งแรง สามารถป้องกันการพังทลายของดินริมตลิ่ง ตามค่าระดับออกแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ ซึ่งแนวกำแพงกันดินนี้จะต้องอยู่นอกเขตคลองและยื่นออกจากริมสะพานอย่างน้อยข้างละ
๓.๐๐ เมตร ในกรณีที่มีท่อระบายน้ำเดิมไหลลงคลอง จะต้องเปิดช่องให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกและมีขนาดของช่องเปิดเท่ากับท่อระบายน้ำเดิม
ข้อ ๓๕ ในกรณีสะพานที่ขออนุญาตชิดที่ดินของบุคคลอื่น การก่อสร้างกำแพงกันดินตาม
ข้อ ๓๔ หากล้ำที่ดินบุคคลอื่นต้องได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดิน กรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างกำแพงกันดินอยู่นอกแนวเขตคลองได้ ให้ก่อสร้างกำแพงกันดินยื่นออกจากริมสะพานอย่างน้อยข้างละ ๓.๐๐ เมตร โดยให้อยู่ชิดแนวเขตคลองมากที่สุด
ข้อ ๓๖ กำหนดให้ระดับพื้นล่างสะพานท่อ มีค่าเท่ากับ -๑.๕๐๐ ตามค่าระดับน้ำทะเลปานกลางและระดับใต้พื้นสะพานท่อด้านบนมีค่าเท่ากับ ๑.๐๐๐ ตามค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง
ข้อ ๓๗ กำหนดให้ค่าระดับต่ำสุดของโครงสร้างสะพานช่วงกลาง ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) คลองที่มีการสัญจรทางน้ำด้วยเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกขนาดใหญ่ มีค่าระดับไม่น้อยกว่า๔.๐๐๐ ตามค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง
(๒) คลองที่มีการสัญจรทางน้ำด้วยเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกขนาดเล็ก มีค่าระดับไม่น้อยกว่า๓.๐๐๐ ตามค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง
(๓) คลองที่ไม่มีการสัญจรทางน้ำ มีค่าระดับไม่น้อยกว่า ๒.๐๐๐ ตามค่าระดับน้ำทะเลปานกลางในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามค่าที่กำหนดข้างต้นได้ กรุงเทพมหานครจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ข้อ ๓๘ กำหนดให้กำแพงกันดินต้องมีระยะจากปลายสุดของกำแพงกันดินอยู่ต่ำกว่าระดับขุดลอกคลองและจะต้องสามารถป้องกันมิให้ดินหลังกำแพงกันดินเกิดการยุบตัวไหลลอดผ่านใต้กำแพงกันดินลงสู่คลองในขณะที่ระดับน้ำในคลองลดลงถึงระดับขุดลอกคลอง ทั้งนี้ ให้ผู้ออกแบบคำนวณการป้องกันการไหลของดิน (Heave) โดยใช้ค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๒.๕
ข้อ ๓๙ สะพานที่ก่อสร้างข้ามผ่านสะพานทางเดินเลียบคลอง จะต้องจัดให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้โดยสะดวกและไม่เกิดอันตราย โดยผู้ขออนุญาตต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงาน
ที่ดูแลรับผิดชอบก่อน
หมวด ๕ บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ ๔๐ หากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องใช้สถานที่หรือแจ้งให้รื้อถอนสะพาน ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการทันทีโดยไม่มีเงื่อu3609 .ไขหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น โดยผู้ขออนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด
ข้อ ๔๑ ในกรณีมีเหตุสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ให้เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาสั่งการเป็นกรณีไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙
อภิรักษ์ โกษะโยธิน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร